ในช่วงเวลาแห่งการเกิดสถานการณ์ติดเชื้อ COVID19 การใช้สระว่ายน้ำอันตรายหรือไม่?

ผู้เขียน: ดร. จีมา ศรลัมพ์ วิศวกรสิ่งแวดล้อม

ในช่วงเวลานี้มีคำถามมากมายในการใช้ชีวิตประจำวันที่เกี่ยวข้องกับการแพร่เชื้อ/ติดต่อเชื้อไวรัส coronavirus disease 2019 หรือ COVID19 ไม่ว่าจะเป็นการใช้หน้ากากป้องกันประเภทต่างๆ การปฏิบัติตัวเมื่ออยู่ในที่แออัด ไปโรงโรงเรียน มหาวิทยาลัยและอื่นๆอีกมากมาย หนึ่งในคำถามที่ถูกถามอีกข้อคือการฆ่าเชื้อโรคในสระว่ายน้ำด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบันสามารถฆ่าเชื้อไวรัส COVID19 ได้หรือไม่ ลองมาดูกัน

การศึกษาเกี่ยวกับ Human coronavirus ที่เกี่ยวกับการระบาดของ SARS ช่วงปี 2002-2003
เนื่องจาก COVID19 เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในปลายปี 2019 ทำให้ยังไม่มีงานวิจัยใดเขียนออกมาอย่างเป็นทางการ จึงขอนำเสนองานวิจัยเกี่ยวกับ Human Coronaviruses (HCoV 229E) โดย Geller, et al., 2012 ซึ่งเป็นการศึกษา Coronavirus ที่สัมพันธ์กับการระบาดของ SARS (severe acute respiratory syndrome) ในช่วงปี 2002-2003 การทดลองดังกล่าวเป็นการศึกษา HCoV 229E ในหลายแง่มุม หนึ่งในนั้นคือเกี่ยวกับการฆ่าเชื้อโรค (disinfection) โดยการใช้สารฆ่าเชื้อโรคหลายประเภท ตัวอย่างผลการศึกษาพบว่า

โซเดียมไฮโปคลอไรต์ (Sodium Hypochlorite, NaOCl) สามารถทำลาย coronavirus สายพันธุ์ HCoV 229E เมื่อใช้โซเดียมไฮโปคลอไรต์ 0.1% -0.5% หรือ 1,000-5,000 ppm และ

คลอรามีน (chloramine T) สามารถทำลาย coronavirus สายพันธุ์ HCoV 229E เมื่อใช้คลอรามีน 0.1% -0.3%
ทั้งนี้การทดลองดังกล่าวมีการให้ไวรัสสัมผัสกับสารฆ่าเชื้อเป็นเวลา 1 นาที และเป็นการทำลายไวรัสที่มากกว่า 3log10

ถ้าจะให้พูดง่ายๆสารฆ่าเชื้อเหล่านี้ควรมีความเข้มข้นที่เท่ากับหรือมากกว่าการทดลองของ Geller, et al., 2012 เมื่ออยู่ในสระว่ายน้ำจึงจะมีประสิทธิภาพในการฆ่า coronavirus สายพันธุ์ที่ระบาดในปี 2002-2003 ดังนั้นเราก็ต้องมาดูกันว่าสระว่ายน้ำใส่สารฆ่าเชื้อโรคที่ความเข้มข้นเท่าไร เหมาะสมหรือไม่

การฆ่าเชื้อโรคของสระน้ำเกลือ
ปัจจุบันสระว่ายน้ำหลายสระเป็นแบบสระน้ำเกลือเนื่องจากมีการใช้เกลือธรรมชาติ (natural salt, NaCl) เป็นสารตั้งต้นในการฆ่าเชื้อโรคของน้ำในสระ โดยเมื่อนำเกลือมาละลายน้ำประปา และด้วยกระบวนการ electrolytic process จะได้ โซเดียมไฮโปคลอไรต์ (Sodium Hypochlorite, NaOCl) โดยเกลือ 2โมลาร์ จะได้ 1โมลาร์ NaOCl เมื่อ NaOCl ละลายน้ำจะสร้างสารฆ่าเชื้อ (disinfectant) ได้แก่สารประกอบ HOCl และอิออน OCl- ซึ่งเรียกรวมว่า free available chlorine หรือคลอรีนพร้อมใช้อิสระ ตัวอย่างเช่นเมื่อวิธีการทำงานของ salt chlorinator ระบุให้สระน้ำละลายเกลือที่ความเข้มข้น 4,000-5,000 ส่วนในล้านส่วน (ppm) จะทำให้เกิด NaOCl ประมาณ 2,500-3,000 ส่วนในล้านส่วน (คำนวนโดยผู้เขียน) หากเปรียบเทียบกับการศึกษาโดย Geller, et al., 2012 ข้างต้นพบว่าหากสระว่ายน้ำปฏิบัติตามวิธีการทำงานของเครื่อง salt chlorinator อย่างเหมาะสม จะมีความเข้มข้นเหมาะสมที่จะทำลาย coronavirus สายพันธุ์ HCoV 229E ได้ อย่างไรก็ดีในทางกฎหมายคลอรีนอิสระในสระจะถูกควบคุมโดยค่าที่กฎหมายกำหนดและเป็นตัวกำจัดสิ่งแปลกปลอมในน้ำระหว่างการใช้งาน

ประเด็นอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับการใช้สระว่ายน้ำที่แนะนำโดยองค์กรด้านสิ่งแวดล้อม ประเทศสิงคโปร์
จากประเด็นคำถามถามบ่อยในเวปไซต์ขององค์กรด้านสิ่งแวดล้อม ประเทศสิงคโปร์ ที่ว่าไวรัส COVID-19 สามารถติดต่อได้จากการใช้สระว่ายน้ำหรือไม่ ระบุว่ายังไม่มีรายงานว่า COVID-19 สามารถติดต่อในสระว่ายน้ำ และผู้บริหารสระว่ายน้ำจะต้องจัดการทดสอบคุณภาพน้ำได้แก่ค่าความเป็นกรดเป็นด่าง (pH) และความเข้มข้นสารฆ่าเชื้อโรคเป็นประจำทุกวัน และทำความสะอาดสระว่ายน้ำและบริเวณโดยรอบที่เกี่ยวข้องตามข้อกำหนดของแต่ละประเทศตลอดเวลา
นอกจากนี้สระว่ายน้ำจะต้องตรวจตราให้ผู้ใช้สระว่ายน้ำอาบน้ำก่อนลงใช้สระว่ายน้ำร่วมกับผู้อื่นและห้ามปล่อยของเหลวในร่างกายระหว่างการใช้สระว่ายน้ำเพื่อสุขอนามัยของส่วนรวม และผู้เขียนเสนอแนะให้สระว่ายน้ำมีการให้ผู้ใช้สระเซ็นต์รับรองการให้ข้อมูลที่แท้จริงเพื่อการคัดกรองผู้มีกลุ่มเสี่ยงในการใช้สระว่ายน้ำ

สระว่ายน้ำถูกควบคุมโดยกฎหมายให้ปลอดภัยอย่างไรบ้าง
ในการประกอบกิจการสระว่ายน้ำ เจ้าของจักต้องปฏิบัติตามกฎหมายในหลายประเด็น หนึ่งในนั้นคือคำแนะนำของคณะกรรมการสาธารณสุข ฉ. 1/2550 เรื่องการควบคุมการประกอบกิจการสระว่ายน้ำหรือกิจการอื่นๆในทำนองเดียวกัน โดยมีการควบคุมคุณภาพน้ำให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน อาทิ

ความเป็นกรด-ด่าง 7.2-8.4
คลอรีนอิสระ (free chlorine) 0.6-1.0 ส่วนในล้านส่วน
คลอรีนที่รวมกับสารอื่น (combined chlorine) 0.5-1.0 ส่วนในล้านส่วน
alkalinity 80-100 ส่วนในล้านส่วน
Total coliform bacteria น้อยกว่า 10 ต่อน้ำ 100 มิลลิลิตร (MPN method) อัตราส่วน 100 มล

รวมทั้งตรวจไม่พบ fecal coliform bacteria และตรวจไม่พบจุลินทรีย์หรือตัวบ่งชี้จุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรค อาจกล่าวได้ว่า หากสระว่ายน้ำสามารถปฏิบัติได้ตามข้อแนะนำดังกล่าวคุณภาพน้ำในสระจักมีความปลอดภัยต่อการสุขอนามัยของผู้ใช้สระ อาจจะมากกว่าการได้อยู่ในที่แออัดอื่นๆที่ไม่มีการควบคุมด้วยซ้ำ


เอกสารอ้างอิง
Baby Pool, 2020, Operation Manual, Eco-Chlor SM Chlorinator

Geller, C., M. Varbanov, and R. Duval, 2012, Human Coronaviruses: Insights into Environmental Resistance and Its Influence on the Development of New Antiseptic Strategies, Viruses, Nov, 4(11), 3044-3068.

Singapore National Environment Agency, 2020, https://www.nea.gov.sg/our-services/public-cleanliness/environmental-cleaning-guidelines/frequently-asked-questions, Frequently Asked Question, Can the COVID-19 be transmitted through swimming pool?

มั่นรักษ์ ตัณฑุลเวศม์ และ มันสิ่น ตัณฑุลเวศม์, เคมีวิทยาของน้ำและน้ำเสีย

คำแนะนำของคณะกรรมการสาธารณสุข ฉ. 1/2550 เรื่องการควบคุมการประกอบกิจการสระว่ายน้ำหรือกิจการอื่นๆในทำนองเดียวกัน

4 Strokes เรียนนานแค่ไหนเด็กจึงจะว่ายได้?

เป็นคำถามที่ซับซ้อนที่โรงเรียนสอนว่ายน้ำและครูผู้สอนมักถูกถามจากพ่อแม่เสมอ คำตอบนั้นตรงไปตรงมามาก คือ ?ไม่มีกำหนดเวลาที...

Read More

หลักสูตรการเรียนว่ายน้ำที่ BABY POOL กับการดำน้ำ (Submersion)

การดำน้ำหมายถึงการที่ทุกส่วนของร่างกายถูกล้อมรอบโดยน้ำอย่างสมบูรณ์ การดำน้ำ (Submersion) เป็นพื้นฐานที่สำคัญในการเรียนว...

Read More

สระเกลือสามารถฆ่าเชื้อไวรัส COVID 19 ได้อย่างไร?

ในช่วงเวลาแห่งการเกิดสถานการณ์ติดเชื้อ COVID19 การใช้สระว่ายน้ำอันตรายหรือไม่? ผู้เขียน: ดร. จีมา ศรลัมพ์ วิศวกรสิ่งแ...

Read More